วันวิสาขบูชา 2566 ที่มา ความสำคัญ พร้อมกิจกรรมร่วมทำบุญวันวิสาขบูชา

Big C > PR & Promotion > วันวิสาขบูชา 2566 ที่มา ความสำคัญ พร้อมกิจกรรมร่วมทำบุญวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา 2566 ที่มา ความสำคัญ พร้อมกิจกรรมร่วมทำบุญวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา วันสำคัญทางพุทธศาสนาสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ คือพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นตรงกัน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ซึ่งในปี 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 3 มิถุนายน 2566 โดยชาวพุทธถือว่าเป็นวันที่รวมการเกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” หมายถึง “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ”

ประวัติวันวิสาขบูชาในไทย

วันวิสาขบูชา 2566

มีหลักฐานว่าวันวิสาขบูชาเริ่มต้นครั้งแรกสมัยสุโขทัยเป็นธานี ได้รับแบบแผนมาจากลังกาเมื่อประมาณ พ.ศ. 420 โดยพระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากนั้น ษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่น ๆ ก็ได้ถือปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบต่อกันมา บวกกับประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด ทำให้พระสงฆ์จากเมืองลังกาเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาในประเทศไทย

ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ “นางนพมาศ” กล่าวสรุปไว้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนครด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ เป็นต้น

ต่อจากช่วงสมัยสุโขทัยไปจนต้นรัตนโกสินทร์ก็ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับพิธีวิสาขบูชาเลย เนื่องจากไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ จนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2360) พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศลทั่วหน้ากัน อีกทั้งการรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ถือว่าเป็นแบบอย่างปฏิบัติในการประกอบพิธีวิสาขบูชาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ความสำคัญวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา 2566

ความสำคัญของวันนี้คือ เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขมาส (เดือน 6) บรรจบกันทั้ง 3 คราว คือ

  • ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ เช้าวันศุกร์ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะทรงประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
  • ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา เช้ามืดวันพุธ ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ภายหลังจากการออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า “พุทธคยา” เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
  • ภายหลังจากการตรัสรู้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัย และโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
  • เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญเดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วันวิสาขบูชา ซึ่งหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 บางแห่งอาจเรียกว่า “วันพระพุทธเจ้า” หรือ “พุทธชยันตี”

กิจกรรมวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา 2566

สำหรับกิจกรรมวันวิสาขบูชา ชาวพุทธศาสนิกชนในไทยส่วนใหญ่ก็จะเริ่มตั้งแต่ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า เข้าวัดทำบุญบำเพ็ญกุศล ฟังธรรมเทศนา ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน หรือการปล่อยนกปล่อยปลา ฟังพระธรรมเทศนา รวมถึงเดินทางไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถตั้งแต่ช่วงเย็น

ในส่วนกิจกรรมเวียนเทียน ก่อนที่จะเริ่มทำการเวียนเทียน พุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวบทสวดมนต์และคำบูชาในวันวิสาขบูชา ซึ่งโดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนที่จะเริ่มเวียนเทียน ส่วนใหญ่นิยมปฏิบัติพิธีการเวียนเทียนกันอย่างเป็นทางการ มีพระสงฆ์เป็นผู้นำเวียนเทียนในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดก่อนเริ่มการเวียนเทียนที่มีทั้งบาลีและคำแปลตามลำดับ ดังนี้

  • บทบูชาพระรัตนตรัย
  • บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า
  • บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
  • บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
  • บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
  • บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
  • บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
  • บทสรรเสิรญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
  • บทสวดเนื่องในวันวิสาขบูชา

เมื่อสวดจบแล้วก็จะมีการจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชา จากนั้นจึงเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยในขณะที่เดินพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณด้วยการสวดบท อิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณด้วยการสวด สวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณด้วยการสวด ปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนครบ ๓ รอบ เมื่อเดินเวียนครบแล้วให้นำธูปเทียน ดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

ร่วมทำบุญวันวิสาขบูชา

ซึ่งในเดือน 6 เดือนนี้ นอกจากจะมีวันสำคัญอย่างวันวิสาขบูชาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวันสำคัญคือ วันฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566 โดยบิ๊กซีร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดร่วมทำบุญ พร้อมรับเข็มที่ระลึก “งานฉลองพระชนมายุครบ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เพื่อส่งมอบให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำรายได้ขึ้นถวายโดยเสด็จพระกุศลตามพระอัธยาศัย

เข็มที่ระลึกสมเด็จพระสังฆราช

ขอบคุณรูปภาพจาก prd.go.th

ซึ่งเข็มที่ระลึกฯ ดังกล่าว ออกแบบโดยนายอธิภัทร แสวงผล เป็นอักษรพระนาม ออป ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ภายใต้เศวตฉัตร 3 ชั้น ตามพระอิสริยยศ แวดล้อมด้วยแพรแถบสีแดง อันเป็นสีประจำวันประสูติ คือ วันอาทิตย์ บรรจุข้อความบอกงานว่า “ฉลองพระชนมายุ 8 รอบ 26 มิถุนายน 2566”

เข็มที่ระลึกสมเด็จพระสังฆราช

ขอบคุณรูปภาพจาก bangkokbiznews

โอกาสนี้ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงอธิษฐานจิตและโปรดประพรมน้ำพระพุทธมนต์บนเข็มที่ระลึกฯ เพื่อเป็นสวัสดิมงคลอันยิ่งใหญ่แก่สาธุชนผู้ได้บริจาคบูชาเพื่อรับเข็มที่ระลึกฯ ไปประดับด้วย

เข็มที่ระลึกสมเด็จพระสังฆราช

ผู้สนใจสามารถโดยเสด็จพระกุศลในราคาเข็มละ 300 บาทต่อ 1 เข็ม ได้ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีทุกสาขา (มีจำนวนจำกัด) ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดได้ที่บิ๊กซีคอลเซ็นเตอร์ โทร. 1756 หรือสั่งจองล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/41WOQj4 ทั้งนี้ บิ๊กซีไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อส่งมอบให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำรายได้ขึ้นถวายโดยเสด็จพระกุศลตามพระอัธยาศัย

เงื่อนไขการรับเข็มที่ระลึก งานฉลองพระชนมายุครบ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สามารถรับ ณ สาขาที่สั่งจองไว้ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

ข้อมูลอ้างอิง
Onab. 2563. “วันวิสาขบูชา” [Online]. เข้าถึงได้จาก : https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/73/iid/3401 สืบค้น 29 พฤษภาคม 2566
Sanook. 2566. “วันวิสาขบูชา 2566 ประวัติ ความสำคัญ กิจกรรมวันวิสาขบูชา” [Online]. เข้าถึงได้จาก : http://event.sanook.com/day/visakha/ สืบค้น 29 พฤษภาคม 2566

แชร์เรื่องราว